
สถิติกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 มีปัญหาเรื่องพัฒนาการช้าไม่สมวัย ร้อยละ 10 พบว่าอยู่ในภาวะเป็นโรค อีกร้อยละ 20 เป็นกลุ่มที่สามารถกระตุ้นให้กลับมามีพัฒนาการที่สมวัยได้ แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องอาจส่งผลถึงพัฒนาการของเด็กในวัยเรียนได้

ผศ. แดนเนาวรัตน์ จามรจันทร์
อาจารย์กล่าวเพิ่มเติมว่าในกรณีที่เด็กคลอดออกมาแล้วเราจะดูว่าเด็ก สามารถทำอะไรได้ตามพัฒนาการที่เหมาะสมในแต่ละวัย แต่ถ้าเด็กไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามวัย เช่น อายุ 2-3 เดือนแล้วคอยังไม่แข็ง ก็อาจจะเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าเด็กอาจจะมีข้อบกพร่องด้านพัฒนาการการเคลื่อนไหว หรือเด็กอายุ 4-5 เดือนยังไม่สามารถพลิกคว่ำได้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้โครงสร้างของเด็กจะเติบโตควบคู่กับพัฒนาการเสมอ ถ้าเราไม่ฝึกพัฒนาการของเด็กให้ตรงกับวัยก็จะมีปัญหาต่อโครงสร้างของเด็ก เช่น ในกรณีเด็กนอนหงายอย่างเดียวและมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เราเรียกว่า ภาวะปวกเปียก เด็กจะมีลักษณะของขาที่แบะออก ส่งผลกับโครงสร้างของข้อสะโพก ตัวกระดูกที่เป็นเบ้ากระดูกที่มีส่วนหัวกระดูก อาจทำให้มีการเคลื่อนของข้อกระดูกตรงนั้นได้ นอกจากนั้นกล้ามเนื้อจะหดตัวได้ต้องอาศัยอะไรหลาย ๆ อย่างรวมทั้งแรงกระตุ้นจากภายนอกเพื่อให้เด็กเคลื่อนไหว ถ้าเด็กมีพัฒนาช้าก็จะไม่สามารถทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยได้ เช่น ถ้าเด็กไม่สามารถยืนได้ ก็จะไม่สามารถเอื้อมไปหยิบของหรือหนังสือมาเพื่อเสริมพัฒนาการอย่างอื่นหรือ เรียนรู้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กพัฒนาไป สู่พัฒนาการทางด้านอื่น สำหรับเด็กที่มีพัฒนาการเร็วกว่าเด็กคนอื่นก็จะมีข้อได้เปรียบตรงที่เขามี โอกาสที่จะเรียนรู้โลกภายนอกได้มากกว่า
อาจารย์ฝากไว้ว่าคุณพ่อคุณแม่ควรมีความรู้พื้นฐานเรื่องพัฒนาการในแต่ละ วัยโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรกตั้งแต่หลังคลอด สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดควรสังเกตพัฒนาการของลูกในแต่ละเดือนเป็นพิเศษ หากพัฒนาการของลูกช้าไม่ตรงกับข้อมูลที่มีอยู่ ควรเก็บข้อสงสัยและพามาพบผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อรับคำแนะนำ เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกมาตรวจพัฒนาการหรือกระตุ้นพัฒนาการได้ที่ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ (02) 218 1100
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น