หนังสือภาพกระตุ้นการเรียนรู้สมองลูกวัย 0-3 ปี
โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กระตุ้นพ่อแม่ ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของสมองเด็กวัย 0 - 3 ปี ระบุการกระตุ้นให้เด็กดู “หนังสือภาพ” บ่อยๆ จะทำให้เด็กอ่านเขียนได้เร็ว เด็กจะรู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่นบ่มเพาะให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ยอมรับ ความเห็นที่แตกต่าง รู้จักถูกผิด และรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเองทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน

พัฒนาการทางภาษา เกิดขึ้นง่ายๆ เมื่อผู้ใหญ่ให้เด็กดูหนังสือภาพและอ่านเรื่องประกอบภาพ ซึ่งอาจเป็นคำๆ หรือมีสัมผัสคล้องจอง เด็กจะดูภาพและได้ยินเสียง เมื่อเข้าโรงเรียนจะอ่านเขียนได้เร็ว พัฒนาการทางอารมณ์เมื่อ เด็กได้ฟัง สัมผัสเหตุการณ์ ปัญหา ความใฝ่ฝัน ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับตัวละคร จะช่วยให้เด็กเข้าใจ เห็นใจและซาบซึ้งไปกับตัวละครเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เด็กจะมีความรู้สึกและควบคุมอารมณ์ต่างๆ ไปพร้อมๆกัน เด็กจะรู้สึกเข้าใจตัวเองและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นด้วย
เด็กที่อ่าน “หนังสือภาพ” จะได้รับพัฒนาการทางสังคม เพราะในหนังสือภาพจะแฝงความเชื่อ ค่านิยม ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคม ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก และรู้จักบทบาทของตนเองในระดับครอบครัวชุมชน และสังคมยามเติบโต
“ในทางการแพทย์สมองคนเรามีความจดจำสั้นมาก และถ้าเรียนรู้ในสภาพที่ถูกบังคับอย่างเคร่งเครียดมีโอกาสที่จะลืมได้ง่าย แต่สำหรับเด็กเล็กนั้น ถ้าได้เรียนรู้ผ่านความรู้สึก พวกเขาจะมีความจดจำที่ดี เด็กจะจดจำทุกเรื่องที่หนังสือบอกเล่า ดังนั้นหนังสือเด็กที่มีความสนุกสนานจะช่วยเรื่องการจดจำสิ่งที่ดีให้กับ เด็กได้มาก เช่น ในหนังสือบอกว่า “คุณเต่าพูดเพราะ” เด็กก็จะมีความรู้สึกอยากเป็นเหมือนตัวละครในหนังสือนั้น และเด็กจะจดจำเป็นภาพได้ง่ายกว่าสิ่งอื่น หนังสือภาพสำหรับเด็ก จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับเด็กวัยก่อนอนุบาลเป็นอย่างมาก” ผู้จัดการแผนสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าว
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวเสริมว่า เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองเป็นแสนล้านเซลล์ ซึ่งเซลล์สมองแต่ละตัวมีแขนงมากมายเพื่อติดต่อกับเซลล์สมองตัวอื่น ๆ เรียกว่า ซินแนปส์ (synapses) ซินแนปส์จะขยายตัวไปเรื่อย ๆ เมื่อเกิดการเรียนรู้ และถูกกระตุ้นอยู่บ่อย ๆ
ในทางกลับกันเซลล์ ที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นจะค่อย ๆ หดหายไป เรียกว่าเซลล์สมองฝ่อ (neuron pruning) เนื่องจากไม่ได้ใช้จากข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของซินแนปส์ที่ว่ามานั้น แสดงได้ว่าหากเด็กในวัยทารกจนถึงก่อนเข้าเรียนได้รับการกระตุ้นผ่านการดู “หนังสือภาพ” ที่เหมาะสมอยู่บ่อยๆ ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ทั้งด้านภาษา อารมณ์ และสังคมให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพต่อไป
เรียบเรียง : Momypedia
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น