วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

การคิดและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย




การคิดและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

ผู้แต่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ


          การคิดเป็นกระบวนการทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝน เช่นเดียวกับการป้อนข้อมูลต่าง ๆ เข้าไปในสมองเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น แต่การฝึกสมองให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ใช่เรื่องของการจำอย่างเดียว เพราะถึงแม้การจำจะเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ แต่ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานของสมองที่จะต้องมีการจำความรู้เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไป บางครั้งการจำไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่อาจไปสกัดกั้นการทำความเข้าใจเนื้อหาของความรู้ ความจริงแล้วการฝึกให้สมองสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องของการคิด เพราะถ้าหากสมองคิดเป็นก็เรียกได้ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่มีศักยภาพมีประสิทธิภาพ การคิดเป็นการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ว่าเราจะต้องจัดการเรียนรู้หรือจัดสิ่งกระตุ้นให้มากพอที่สมองจะได้ฝึกคิด การคิดสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้

           รูปแบบการเรียนรู้ปัจจุบันจำเป็นต้องสร้างให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรุกนั้นคือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ใฝ่รู้ รู้จักคิดตั้งคำถามและคิดค้นหาคำตอบ ให้โอกาสผู้เรียนได้แสดงความคิด วิเคราะห์และหาข้อสรุป และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผู้เรียนฝึกฝนการคิดคือมีทักษะการคิด ลักษณะการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นผลมาจากนักการศึกษาในปัจจุบันได้นำเอาความรู้ในเรื่องการคิดและการเรียนรู้ทางจิตวิทยาและทางชีววิทยามาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการคิดของเด็กในชั้นเรียนเพื่อเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ใช้ในการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป

           เด็กอายุ 8 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางการคิดและการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวของเขา เรารู้ข้อมูลเหล่านี้จากนักจิตวิทยาโดยเฉพาะนักจิตวิทยาการเรียนรู้ ระหว่างศตวรรษที่ 20 คำถามสำคัญคือ การคิดของเด็กเล็ก ๆ แตกต่างจากผู้ใหญ่หรือไม่ หรือมันเป็นการขาดประสบการณ์ของเด็กหรือไม่ สำหรับประเด็นที่ว่า เด็กเรียนรู้อย่างไร ได้ศึกษาโดยนักการศึกษา นักปรัชญา นักจิตวิทยา เช่น พาฟลอฟ ทอนไดค์ สกินเนอร์ ให้ความสำคัญในอิทธิพลของแนวทางที่เน้นการสอน (เด็กถูกสอน) ประมาณ ค.ศ. 1950-1959 นักจิตวิทยาและนักการศึกษาให้ความสำคัญมากในการเรียนอย่างเข้มข้น ต้องการการเสริมแรง และเชื่อว่าหลักการเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานการกระตุ้นและการตอบสนอง
          
          พิอาเจท์และอินเฮลเดอร์ (Piaget and Inhelder. 1969 : 58) อธิบายว่า การคิดหมายถึง การกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยปัญญา การคิดของเด็กเป็นกระบวนการใน 2ลักษณะคือ เป็นกระบวนการปรับโครงสร้างโดยการจัดสิ่งเร้าหรือข้อความที่ได้รับจริงให้เข้ากับประสบการณ์เดิมที่มีอยู่กับกระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยการปรับความจริงที่รับรู้ใหม่ให้เข้ากับประสบการณ์เดิม เด็กใช้การคิดทั้งสองลักษณะนี้ร่วมกันหรือสลับกันเพื่อปรับความคิดของตนให้เข้าใจสิ่งเร้ามากที่สุด ผลของการปรับเปลี่ยนการคิดดังกล่าวช่วยพัฒนาวิธีการคิดของเด็กจากระดับหนึ่งไปสู่การคิดอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่า ไอแซคส์ (Isaacs)ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของการเรียนรู้ของเด็กจากการศึกษาของเขาโดยการสังเกตและจดบันทึก โดแนลด์สัน (David.1999: 2-3 ;citing Donaldson.nd) อธิบายว่า ปัญหาการสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความล้มเหลวในการเรียนรู้ได้ ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องพยายามคิดว่าทำอย่างไรจะบรรลุความสำเร็จที่จะเข้าใจความคิดและภาษาของเด็ก และอธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กทำให้เด็กเกิดความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การคิดเป็นนามธรรมต่อไป เด็กจะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ถ้าเขาไม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง

          ภาษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้และความเข้าใจ บรูเนอร์ (Bruner. 1993) และไวกอตสกี้ (Vygotsky. 1978) ให้ความสำคัญเรื่อง ภาษา การสื่อสาร และการสอนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทางสติปัญญา และพัฒนาการส่วนบุคคล การแสดงออกของผู้ใหญ่ในฐานะผู้ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ (Scaffolding)จะทำให้เด็กเข้าใจโลกรอบตัวของเขา เด็กบางคนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือไม่สามารถจำประสบการณ์ของตนได้ ถ้าผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือ หรือแนะนำอาจทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง
          บรูเนอร์ (Bruner) พัฒนาแนวคิดของ เนลสัน (Nelson) เกี่ยวกับความคิดเรื่อง ผู้ใหญ่ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำ (Scaffolding) การเรียนรู้ของเด็กและไวกอตสกี้ (Vygotsky) ค้นพบเรื่อง “Zone of Proximal Development” เพื่ออธิบายช่องว่างระหว่างสิ่งที่เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองและสิ่งที่เด็กสามารถประสบความสำเร็จด้วยการช่วยเหลือของคนอื่นส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดเพิ่มขึ้น ระดับการคิดที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการใช้ภาษาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ผู้ใหญ่ถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางวัฒนธรรม ไวกอตสกี้อธิบายว่าความสำเร็จจากความร่วมมือคือพื้นฐานการเรียนการสอนโดยบุคคลที่มีความรู้มากกว่าเป็นตัวเสริมให้ระดับการคิดของเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้มันเป็นการค้นพบว่า เมื่อเด็กทำงานร่วมกับผู้อื่นในกิจกรรมการคิดแก้ปัญหาทำให้เด็กประสบความสำเร็จถึงวิธีการแก้ไขได้ดีกว่าที่เขาพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การเรียนรู้แบบร่วมมือมักเกิดขึ้นในหลาย ๆ สถานการณ์การเล่น โดยการที่เด็กเล่นไปด้วยกันและทดลองแนวคิดใหม่พร้อมกับใช้ทักษะการคิดหลายด้าน เด็กสามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ด้วยการใช้ทักษะการคิดหลาย ๆ ด้าน บรูเนอร์อธิบายว่า มันเป็นสถานการณ์การเล่นที่เด็กเล็กสามารถทดสอบความคิดของตนเองและความรู้ที่มีอยู่โดยเป็นอิสระจากผู้ใหญ่ แม้ว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ แต่ยังมีองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลการเรียนรู้คือ แรงจูงใจ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มาจากความสนใจของเด็กและแรงจูงใจภายใน จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งการเรียนรู้ (David. 1999 : 4-5) บทบาทของผู้ใหญ่หรือคนที่มีความรู้มากกว่าในฐานะผู้ช่วยเหลือและให้คำแนะนำส่งผลให้เด็กมีระดับการคิดสูงขึ้น
        
        สรุปได้ว่าการคิดและการเรียนรู้ตามแนวคิดทางจิตวิทยามีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาโดยตลอด แนวคิดทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาในปัจจุบัน คือ แนวคิดของพิอาเจท์ (Piaget) บรูเนอร์ (Brunner) และไวกอตสกี้ (Vygotsky) รูปแบบการเรียนการสอนจึงเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยครูสามารถจัดกิจกรรมให้เด็กได้สืบค้นและทดลอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือกระทำด้วยการคิด ผู้เรียนมีโอกาสได้แสดงออกในการคิดใช้ทักษะการคิด เรียนรู้แบบร่วมมือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นพบด้วยตนเอง บทบาทครูในฐานะผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ ครูควรใช้คำถามที่มีความหมายให้คำอธิบาย พูดคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

บรรณานุกรม



  • ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์;และอุษา ชูชาติ.(2545).ฝึกสมองให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช.







  • อัญชลี ไสยวรรณ. (2548) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทักษะการคิดแสวงหาความรู้สำหรับ เด็กปฐมวัย. ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต.(การศึกษาปฐมวัย). กรุงเทพฯ:บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. อัดสำเนา.







  • David, Tricia.(1999). Young Children Learning. London : Paul Chapman .
  • มาช่วยกันเสริมสร้าง “ความคิดสร้างสรรค์” ให้เด็กไทยกันดีกว่า



    มาช่วยกันเสริมสร้าง “ความคิดสร้างสรรค์” ให้เด็กไทยกันดีกว่า

    โดย วิวรรณ สารกิจปรีชา 


                ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน พ่อแม่ทุกคนมีความปรารถนาให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีอนาคตที่ดี มั่นคง แต่เศรษฐกิจของโลกและของประเทศต่างๆ ขึ้นลงไม่แน่นอนอยู่เป็นนิจ การทำงานใดๆ ในอนาคตจะต้องแข่งขันกันมากขึ้น แล้วอะไรที่จะช่วยลูกเราให้เดินไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ดีที่สุดหนอ? แน่นอนทักษะต่างๆในการทำงาน ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร ความสามารถในการเรียนรู้ ย่อมต้องถูกฟูมฟักให้ลูกๆของเราทุกคน แต่สิ่งที่จะทำให้ลูกของเราแตกต่างและโดดเด่น น่าจะเป็นในด้านความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ถ้าเป็นพ่อค้าความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องตา ต้องใจได้ดีมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้ วิธีการขายจูงใจมากขึ้น ถ้าเป็นครูความคิดสร้างสรรค์จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กสนุก แปลกใหม่ และเด็กๆเรียนรู้ได้ดีขึ้น ถ้าเป็นเกษตรกรความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้สามารถเพิ่มผลผลิต และการขายผลิตผลจะดลใจผู้ซื้อมากขึ้น หรืออาจจะนำส่วนเหลือของผลิตผลหลักไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้มากขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กตั้งแต่ยังเล็ก แต่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนมักจะอ้างว่าไม่มีเพียงพอ ทั้งๆที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ในทุกๆคน ปัจจัยที่ทำให้คนไทยหลายคนคิดว่าตัวเองไม่มีความคิดสร้างสรรค์พอ ก็คือ วิธีการเลี้ยงดูและการศึกษาแบบไทยๆ เด็กดีของผู้ใหญ่ในประเทศไทย คือเด็กที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ เด็กที่ว่าง่าย และทำตามที่ผู้ใหญ่วางกรอบไว้ให้ เด็กที่ยกมือถามครูบ่อยๆ มักจะถูกครูตัดบทบาท เด็กที่ทำอะไรผิดไปจากสิ่งที่ครูให้ทำตามปกติถูกกล่าวหาว่าทำผิดหรือทำอะไรแผลงๆ เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้เติบโตในกรอบของคุณธรรม แต่ต้องไม่สกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่สกัดกั้นเสรีภาพที่จะคิด พูด ถามคำถาม ออกความเห็น และได้ลงมือทำในสิ่งที่ตนคิดไปเสียหมด 



                เด็กเล็กก่อนวัยเรียน มีความคิดสร้างสรรค์ติดตัวมาอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพของแต่ละคน Howard Gardner ได้กล่าวเมื่อมาเยือนประเทศไทยให้บรรดาครูฟังว่าเด็กในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในช่วงก่อนวัยเรียนเด็กๆได้รับการสนับสนุนให้มีความคิดที่แตกต่าง เล่นอย่างเสรี และไม่ถูกสกัดกั้นที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป แต่เมื่อเด็กเติบโตและอยู่ในช่วงวัยเรียน เด็กๆถูกจำกัดในด้านการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กๆจะเข้าใจและจำในสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกได้ว่าอย่างไหนถูกต้อง และทำอะไรอย่างไหนผิด ถ้าเมื่อใดปัญหาที่เกิดขึ้นมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว และกฎระเบียบทำให้การปฏิบัติตนของเด็กต้องดำเนินไปเหมือนกันหมด ความคิดสร้างสรรค์ก็จะถูกผลักห่างออกไป ดังนั้นผู้ใหญ่ควรตระหนักว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ดีในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์เท่านั้น มีวิจัยหลากหลายที่สรุปได้ว่าบรรยากาศที่ไม่มีกฎระเบียบมากเกินไป และบรรยากาศที่ยอมรับและยกย่องเสรีภาพจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมาก 



                 สำหรับเด็กเล็กแล้ว การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ควรมุ่งไปที่กระบวนการมากกว่าผลิตผลหรือตัวบุคคล เช่น การพัฒนาส่งเสริมความคิดที่แปลกใหม่ เป็นต้น ผู้ใหญ่ควรคิดแยกแยะความคิดสร้างสรรค์ออกจากความฉลาดและความสามารถพิเศษ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาดมาก และความคิดสร้างสรรค์ไม่มีปรากฏให้เห็นเฉพาะในดนตรี ศิลปะ หรือผลงานการเขียนเท่านั้น แต่ความคิดสร้างสรรค์มีปรากฏให้เห็นได้ในทุกวิชาที่มีกำหนดในหลักสูตร ทั้งในวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และอื่นๆ ในเด็กเล็กๆการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ควรเริ่มจากการส่งเสริมความคิดที่หลากหลาย และการแสดงออกตามความคิดต่างๆเหล่านั้นหลายวิธีเด็กๆควรได้รับการส่งเสริมให้ประเมินตนเองมากกว่าที่จะถูกประเมินโดยผู้อื่น เด็กๆควรรับรู้ว่า การแก้ปัญหาใดก็ตามไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว เด็กๆควรได้รับการส่งเสริมให้สำรวจออกความเห็น ทดลองและแก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลายด้วยตัวเด็กเอง บรรยากาศที่เด็กไม่กลัวว่าคำตอบของตนอาจจะผิด จะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี 



                 การให้รางวัลเพื่อจูงใจเด็กๆมักจะมีผลลบกับการคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการกำหนดกฎเกณฑ์ผิด-ถูกกับเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่ต้องรับรู้ว่าเด็กต้องการการยอมรับคำตอบและ หรือความคิดเห็นที่เด็กเสนอ จากบุคคลรอบข้างทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งเด็กๆต้องได้รับโอกาสที่จะทดลองตามความคิดของตัวเองด้วย 



                 การให้รางวัลไม่มีผลต่อการให้ความคิดเห็น แต่จะทำให้คุณภาพของคำตอบหรือการตอบสนองของเด็ก และการคิดที่แตกต่างไปจากแนวคิดที่มีอยู่ลดลง ความสามารถในการคิดเชื่อมโยงจากแนวทางหนึ่งไปยังอีกแนวทางหนึ่งจะลดลง เพราะเด็กอยากได้รับการชมเชยจึงคิดและเลือกที่จะตอบในเฉพาะแนวทางที่จะได้รางวัลเท่านั้น ดั้งนั้นการมีความต้องการด้วยตนเองที่จะคิดสร้างสรรค์ย่อมดีกว่าและควรได้รับการส่งเสริมมากกว่า ถ้าพวกกิจกรรมต่างๆที่เด็กได้ลงมือกระทำ สำรวจ สืบค้น ทดลองนั้น มีความหมายและเกี่ยวข้องกับประสบการณ์เดิมของเด็กกับชีวิตประจำวันของเด็ก โอกาสที่จะช่วยให้เด็กได้เห็นและเรียนรู้ในสิ่งที่เกี่ยวพันกันระหว่างสิ่งต่างๆและวิชาต่างๆ หลายวิชาในหลักสูตรจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก การเรียนรู้แบบดังกล่าวจะช่วยให้เด็กเกิดความคิดที่หลากหลาย มีความคิดริเริ่ม และเรียนรู้อย่างเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น 


                 การสำรวจ สืบค้น อย่างลึกซึ้งและไปได้เนิ่นนานกับงานที่เป็นลักษณะเปิดกว้าง ไม่จำกัดคำตอบที่ถูกต้อง จะช่วยส่งเสริมให้เด็กอยากเรียนรู้ และช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้ดี ผู้ใหญ่ควรทำตนเป็นเสมือนผู้ให้การสนับสนุนตามความคิดของเด็ก เป็นผู้ตั้งคำถามปลายเปิด เป็นผู้ช่วยนำทางและทำงานเป็นสมาชิกของกลุ่มเด็กๆในการสำรวจสืบค้น ผู้ใหญ่สามารถรับรู้ได้ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ในการตอบสนองความคิดของเด็กๆ ในการรู้ว่าควรจะส่งเสริมสนับสนุนเด็กๆให้ทำสิ่งที่ท้าทายหรือเสี่ยงต่อความผิดพลาดเมื่อใด และจะไม่เข้าไปรบกวนเด็กๆเมื่อใดโดยการรับฟังเด็กๆอย่างตั้งใจและสังเกตอย่างละเอียด ผู้ใหญ่ควรจะตระหนักว่าจังหวะในการส่งเสริมและวิธีการส่งเสริมจะต้องเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และพัฒนาการ ความสามารถของเด็กแต่ละคนเสมอ ดังนั้นความเอาใจใส่ของครูและผู้ปกครองจะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กไทยของเราได้เป็นอย่างดี 


    แหล่งที่มา
    http://www.preschool.or.th/article_kindergarten/journal_create.html

    การส่งเสริมการคิดแก้ปัญหา



    การส่งเสริมการคิดแก้ปัญหา

                 สำหรับการคิดแก้ปัญหานั้นเป็นการคิดที่ต้องใข้ความสามารถของสมองและประสบการณ์เดิม  เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาจึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักในการที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะในการคิดแก้ปัญหา  สำหรับแนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาพอจะกล่าวได้ดังนี้
                1. การให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็ก  ทำให้เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย  มีความสุข  มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมองโลกในแง่ดี
                2. เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น  และตัดสินใจ  เพื่อช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก  และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
                3.ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต  โดยการจัดประสบการณ์ให้มีการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง  5   เพื่อการรับรู้ในทุกด้าน มีผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุนและคอยดูแลช่วยเหลือ
                4.ส่งเสริมให้เด็กได้ช่วยเหลือตนเองให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการด้านบุคลิกภาพคือความเชื่อมั่นในตนเองทำให้ส่งผลต่อการคิดแก้ปัญหาของเด็ก
                5.แสดงความชื่นชมเมื่อเด็กทำในสิ่งที่ดีงามและทำให้เด็กเกิดความมั่นใจเมื่อเด็กทำ
    สิ่งที่ดีงาม
    อันจะทำให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง  และมีกำลังใจในการจะทำความดีและสิ่งดีงาม
                6.จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดแก้ปัญหาของเด็ก  และมีบรรยากาศที่ทำให้เด็กได้รู้สึกสบายใจ  ไม่เคร่งเครียด  สภาพแวดล้อมดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะการคิด
                ทั้งหมดนี้คงจะเป็นแนวทางในการที่พัฒนาความคิดแก้ปัญหาสำหรับเด็กของเราได้ต่อไป

    แหล่งที่มา
    http://rb1curicurriculum.blogspot.com/2010/01/blog-post_01.html

    12 เทคนิค พัฒนาทักษะการคิดให้ลูก

    12 เทคนิค พัฒนาทักษะการคิดให้ลูก


              เนื่องจากการคิดเป็นรากฐานหรือแกนสำคัญของทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ดังนั้น ถ้าทักษะการคิดไม่ดี ทักษะทั้งสี่ด้านนี้ก็จะไม่ดีตามไปด้วย
        มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการสอนเด็กอนุบาลวัย 4 ขวบ ที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเมือง ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปเด็กกลุ่มที่ได้รับการสอนทักษะการคิดมีความสามารถทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนดีกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับการสอน ดังนั้น การพัฒนาคนจึงควรเริ่มพัฒนาที่ความคิดก่อน ความคิดจะช่วยสร้างทั้ง 4 ด้านที่กล่าวไว้ข้างต้นให้ก้าวหน้ามากขึ้นและยั่งยืน
              โดยทั่วไป เด็กแต่ละคนมีความสามารถในการคิดและการรับรู้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก ซึ่งวิธีการคิด และการเรียนรู้ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะของพัฒนาการตามวัยและระดับการเจริญเติบโตทางสติปัญญา นอกจากนี้ ความสามารถในการสื่อสารของเด็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญติดตามเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปี จนถึงอายุ 6 ปี พบว่าเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสาร รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้มักจะมีความบกพร่องทางการคิด และมีปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียน โดย เด็กจะอ่านและเขียนช้ากว่าและมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงความคิดและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากกว่าเด็กที่ไม่มีปัญหา
             จะเห็นว่าการพัฒนาทักษะการคิดให้เด็กเป็นงานที่นับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กควรได้รับการเตรียมและปูพื้นฐานการคิด ซึ่งเป็นแกนสำคัญของการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเตรียมพื้นฐานการคิดตลอดจนการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็กให้ปรากฏ
    เทคนิคสำคัญในการพัฒนาทักษะการคิด
             ในการพัฒนาทักษะการคิดหรือฝึกเด็กให้เป็นนักคิดที่ดีมีหลายวิธี ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดนั้นอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและที่สำคัญจะต้องคำนึงปัจจัยในตัวเด็กเองด้วย เช่น ลักษณะนิสัยใจคอ สิ่งที่เด็กชอบ หรือสนใจระดับสติปัญญา เป็นต้น ซึ่งผู้ฝึกอาจพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่า ควรใช้วิธีใดจึงเหมาะสม
         

     ทั้งนี้เพื่อให้ได้ประสิทธิผลจากการฝึกมากที่สุด ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเทคนิคสำคัญในพัฒนาทักษะการคิด ให้เกิดขึ้น
    1.  การฝึกควรเริ่มฝึกเด็กให้คิดจากสิ่งที่ง่ายก่อนแล้วจึงไปสิ่งที่ยากขึ้น
    2. เตรียมเด็กโดยการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เด็กสนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
    3. การฝึกควรกำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ทุกครั้ง
    4. สร้างนิสัยความอยากรู้ อยากเห็น และการค้นคว้าฝ่ารู้ให้เด็ก
    5. ใช้หัวข้อที่เด็กคุ้นเคย รู้จัก หรือสนใจ แล้วกำหนดเป็นคำถาม
    6. สอนและฝึกให้เด็กรู้จักการเปรียบเทียบ ความเหมือน และความแตกต่าง
    7. ฝึกให้เด็กหัดเชื่อมโยงรูปภาพ สถานการณที่จำลองกับของจริง
    8. จัดเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้เด็กหรือจินตนาการ และให้โอกาสเด้กได้สื้อออกมาถึงพลังความนึกคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
    9. พัฒนาทักษะการคิดควบคู่ไปกับทักษะการแก้ปัญหา
    10. สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กมีอิสระในการคิด การถาม และการแสดงออก
    11. สร้างความมั่นใจ พร้อมทั้งให้กำลังใจ
    12. ให้เวลาในการคิด ไม่เร่งรัด เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด และไม่ควรจำกัดการคิดของเด็ก
              เทคนิคทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมานี้จะช่วยให้การฝึกเด็กให้หัดคิดมีประสิทธิภาพ และพัฒนาเป็นนักคิดที่ดีต่อไป คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเป็นนักคิดที่ดี ก็ต้องเตรียมลูกให้พร้อม และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอตามที่ได้กล่าวไว้ ข้างต้นว่าวิธีการฝึกให้เด็กเป็นนักคิดสามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ที่สำคัญคือวิธีการที่ใช้นั้นควรเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้และมีโอกาสใช้ความคิดของตัวเอง และควรดำเนินไปตามธรรมชาติ ไม่เร่งรัด แต่มีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง รวมทั้งต้องตอบสนองความต้องการตามวัยและพัฒนาการของเด็กเองด้วย
    แหล่งที่มา

    วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

    เด็กปฐมวัยคุณค่าที่น่าลงทุน

    เด็กปฐมวัยคุณค่าที่น่าลงทุน

                                                                                   โดยครูดอยกลางกรุง
             มีผู้รู้หลายๆ ท่านได้กล่าวไว้ว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของชาติต่อไป ซึ่งนั่นก็คือเป็นอนาคตของชาตินั่นเอง การที่เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพนั้นคงไม่มีใครปฏิเสธว่าการ ศึกษาเป็นส่วนสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่จะช่วยให้ทรัพยากรเหล่านั้นเติบโต อย่างมีคุณภาพแต่ก็ยังมีปัจจัย แวดล้อมด้านอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน
            การจัดการศึกษาให้แก่เด็กๆ เหล่านี้เปรียบเหมือนการลงทุนที่ชาติจะเป็นผู้ได้กำไรดังนั้นการจัดการศึกษา จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องที่จะวางนโยบายทางการ ศึกษาให้เป็นไปตามความต้องการของชาติและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ในปัจจุบันการจัดการศึกษาของประเทศไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่ต้อง การเท่าที่ควรยังคงต้องการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อ เนื่อง
            ในการการจัดการศึกษาของเด็กปฐมวัยนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการวางรากฐานของ ค่านิยม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในด้านต่างๆ ให้ติดตัวไปกลายเป็นลักษณะนิสัยที่ถาวรถ้าต้องการปลูกฝังค่านิยมด้านใด คุณลักษณะด้านไหนสามารถปลูกฝังได้ดีที่สุดก็ในช่วงวัยปฐมวัยนี้ซึ่งในการ จัดการศึกษาของเด็กปฐมวัยจะจัดการเรียนรู้ในรูปแบบบูรณาการซึ่งจะจัด ประสบการณ์ในทุกๆ ด้านให้เป็นประสบการณ์สำคัญในชีวิตให้แก่เด็กๆ
            วัยปฐมวัย ( 2 – 6 ปี)* มีลักษณะเด่นในด้านต่างๆ เช่นความอยากรู้อยากเห็น อยากสัมผัส อยากทดลอง อยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เด็กวัยนี้สามารถเรียนรู้จากการดูเห็น สัมผัส (เรียนรู้จากประสาทสัมผัส) การลอกเลียนแบบบุคคลใกล้ชิด พวกเขามองเห็นโลกใบนี้ด้วยความสนุกมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตพวกเขาตลอดเวลาเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ถูกผิดแต่ก็ต้องมีผู้ใหญ่ คอยชี้แนะให้ความดูแลสิ่งผิดถูกในการจัดการเรียนการสอนแม้ว่าครูพยายามจัด กิจกรรมหรือประสบการณ์ด้านต่างๆ ให้แก่พวกเขามากเพียงใดแต่ในชีวิตประจำวันที่พวกเขาได้สัมผัสนอกห้องเรียน นั้นมันมักตรงกันข้ามกับคำสอนหรือบทเรียนที่คุณครูได้พร่ำสอนทำให้พวกเขา สับสนว่าสิ่งใดกันแน่ที่ถูกต้องควรปฏิบัติสิ่งใดกันแน่ที่ว่าผิดไม่ควรทำมี ตัวอย่างจากนักเรียนในห้องของผู้เขียน ในตอนเช้าน้องพั้นซ์ได้บอกกับคุณครูว่าตอน
    เย็นคุณพ่อจะมารับ ( โดยปกติจะกลับรถโรงเรียน )เมื่อถึงเวลาเย็นคุณพ่อก็ไม่ได้มารับคุณครูจึงถามว่าน้องพั้นซ์ไหนบอกว่า คุณพ่อจะมารับไงคะ น้องพั้นซ์ก็ตอบว่า ไม่รู้เหมือนกันคะ สงสัยคงเล่นไพ่อยู่มั้ง จะเห็นว่าเด็กๆ ตอบด้วยความซื่อไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเล่นไพ่เป็นสิ่งดีหรือไม่ดีแต่ได้เห็น คุณพ่อเล่นเป็นประจำจนเคยชินนี่คือตัวอย่างที่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังจะรู้สึกขำ แต่ถ้าเราหยุดคิดซักนิด คำพูดของน้องพั้นซ์นั้นได้สะท้อนอะไรให้พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับรู้ไม่ มากก็น้อยและได้หันไปมองสังคมแวดล้อมของเราว่ามันได้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อย เพียงใด
            สังคมที่ทุกคนมุ่งแต่ทำมาหากินจนขาดสิ่งที่คอยค้ำยันให้ทุกคนมีจิตสำนึกที่ ดีต่อสังคม สังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ มอมเมาเด็กๆ และเยาวชน อาทิเช่น สื่อลามกในรูปแบบ วีดีโอ หนังสือ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ฯลฯ ซึ่งล้วนแฝงสิ่งที่ยั่วยุ มอมเมา ให้เด็กๆ ของเราคิดไม่เป็น ขาดการควบคุมอย่างจริงจังจากผู้เกี่ยวข้องทั้งๆ ที่มีกฎหมายอยู่แล้ว สื่อวีดีโอหาซื้อได้ง่ายมาก บางทีอาจจะมากกว่าการหาซื้อขนมไทยบางอย่างซะอีก หนังสือแม้จะเป็นหนังสือการ์ตูน หนังสือละคร นิยาย ฯลฯ ก็ยังมีภาพ ที่ไม่เหมาะสมแอบแฝงอยู่มากมายจนเด็กๆ เห็นชินตาทำให้พวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาแต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ธรรมดา เลย ส่วนภาพยนตร์ นั้นผู้เขียนเคยมีประสบการณ์พาหลานไปชมภาพยนตร์การ์ตูนก่อนจะฉายจริงก็จะมี ภาพยนตร์ตัวอย่างให้ดูก่อนแค่ดูก็อยากกลับออกมาจากโรงภาพยนตร์เสียให้ได้มี ภาพยนตร์ตัวอย่าง 4-5 เรื่องแล้วก็ต้องตัดเป็นฉากเลิฟซีนมาโฆษณาให้ดูผู้ที่รับผิดชอบผู้เกี่ยว ข้องเขาไม่ได้สนใจเลยว่าภาพยนตร์การ์ตูนใครคือผู้เข้าชมและบริษัทภาพยนตร์ เขาสร้างมาเพื่อให้ผู้ชมวัยใดและที่สำคัญอีกสื่อหนึ่งก็คือโทรทัศน์ซึ่งถือ ว่าเป็นสื่อที่ใกล้ตัวเด็กๆ มากที่สุดเพราะแทบทุกบ้านต้องมีโทรทัศน์กันแทบทั้งนั้นแล้วโทรทัศน์บ้านเรา ก็มีแต่ละครเสริมสร้างปัญญาน้อยมาก รายการที่มีสาระก็หาได้น้อยและอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ดึกเกินไปก็เช้าเกินเหตุ ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเป็นละครแทบทุกช่อง นี่ก็อยากจะถามว่าเราจะร่วมกันรับผิดชอบได้หรือเปล่า ละครที่มีแต่เสียงกรีดร้องไร้เหตุผลผู้คนแต่งตัวไร้ศิลปะ พูดจามีแต่ด่าทอ ชอบทำตาถลนใส่ผู้อื่น ไม่พอใจต้องร้องให้ดังที่สุดและอะไรๆ ต่อมิอะไรที่ตัวละครแสดงแล้วดูเหมือนถูกใจผู้จัดแต่กลับลืมดูว่าผู้ดูผู้ซึม ซับสิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเราต่อไปสังคมที่ปล่อยให้เด็กๆ เดินทางเรียนรู้ผิดถูกอย่างโดดเดี่ยวไร้คนเหลียวมองหรือมองเห็นแต่ไม่ได้ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือดูแลอย่างจริงแล้วอย่างนี้เด็กปฐมวัยวัยแห่งการเรียน รู้ จากการใช้ตา หู ปาก จมูก การจดจำ การเลียนแบบ การสังเกต ฯลฯ ก็คงจะจดจำสิ่งที่สังคมได้หยิบยื่นให้อย่างล้นหลามนี้ไปอย่างไม่มีหนทาง ปฏิเสธได้เลย แล้วใครจะร่วมเป็นผู้ลงทุนให้เด็กๆ ของเราเหล่านี้ให้เติบใหญ่เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพด้วยการจัดการศึกษาที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดีพร้อมจะให้เด็กๆ ของพวกเราเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าไม่ใช่พวกเราทุกคนอยู่ร่วมกันใน สังคม

    * รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ เอกสารการสอนพฤติกรรมการสอนปฐมวัยศึกษา เด็กปฐมวัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2544.